คำถามที่พบบ่อย

Q & A Allergy

1. Allergic Symptoms

Q : โรคภูมิแพ้คืออะไร
A : โรคภูมิแพ้คือ กลุ่มโรคที่ร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้มากผิดปกติ โดยโรคที่พบบ่อยเช่น แพ้อากาศ (allergic rhinitis)
โรคหอบหืด (asthma) โรคผื่นผิวหนังภูมิแพ้เรื้อรัง (atopic dermatitis) แพ้อาหาร (food allergy) เป็นต้น

Q : ใครที่มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้
A : ผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคภูมิแพ้จะมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าคนปกติ นอกจากนี้การที่ต้องสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้มากๆ ก็อาจเป็น   สาเหตุได้

Q : จะทราบได้อย่างไรว่าตนเองเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่
A :  ถ้าท่านมีอาการ เช่น มีน้ำมูกไหลประจำ คันตา คันจมูก จามบ่อย หายใจลำบาก หอบ มีผื่นลมพิษตามตัว ก็ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคภูมิแพ้ได้

Q : สามารถรักษาให้หายขาดได้ไหม
A : ปัจจุบันการรักษาเน้นที่การหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ซึ่งจะทราบได้จากการทำการทดสอบภูมิแพ้รักษาร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ส่วนการรักษาที่มีโอกาสหายขาดได้คือการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ซึ่งทำได้ในโรคแพ้อากาศ (allergic rhinitis) และหอบหืด (asthma)

2. Skin Test

Q : การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังคืออะไร
A : การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคภูมิแพ้จำเป็นต้องตรวจดูว่าผู้ป่วยสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะ (specific IgE) ต่อสารก่อภูมิแพ้ที่สงสัยหรือไม่ซึ่งอาจทำได้โดยการตรวจเลือด ได้แก่ การตรวจ RAST (Radioallergosorbent test) หรือการตรวจในผู้ป่วยโดยตรงได้แก่ การการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (skin test) โดยทั่วไปแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางภูมิแพ้มักทำการตรวจ skin test เพราะทำได้ง่าย รวดเร็ว และสิ้นเปลืองน้อย อีกทั้งยังมีความไวและความจำเพาะสูง

Q : วิธีการทำอย่างไร
A : การตรวจทำได้โดยการหยดสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ (extract) ลงบนผิวหนังและใช้เข็มสะกิดผิวหนังผ่านหยดสารสกัดโดยสะกิดเบาๆ ทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาที อ่านผลโดยวัดขนาดของรอยบวม (wheal) หรือร่วมกับรอยแดง (flare) ที่เกิดขึ้น ใช้เวลารวมทั้งหมดประมาณครึ่งชั่วโมง

Q : การเตรียมตัวก่อนทำการทดสอบ
A : ก่อนทำการตรวจ ผู้รับการตรวจจะได้รับคำแนะนำให้หยุดยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด และยาอื่นๆ ที่อาจมีผลทำให้ผลการตรวจผิดพลาดเป็นเวลาอย่างน้อย 3-7 วัน  และงดการใช้ยาครีมเสตียรอยด์ทาบริเวณที่จะทำการทดสอบอย่างน้อย 2 สัปดาห์

Q : มีการทดสอบสารแพ้ตัวใดบ้าง
A : ทางคลินิกภูมิแพ้มีการทำ skin test 2 ชุด
         1. ชุดแรกเกี่ยวกับการหายใจ เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น เกสร เชื้อรา ขนสัตว์ และอื่นๆ
         2. ชุดที่สองเกี่ยวกับการอาหารที่รับประทาน เช่น นม ไข่ ถั่ว อาหารทะเล และอื่นๆ

3. Immunotherapy

Q : การฉีดวัคซีนภูมิแพ้คืออะไร
A : การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (immunotherapy) เป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคภูมิแพ้ เป็นการรักษาที่ต้นเหตุ เป็นวิธีการรักษาที่สามารถทำให้ผู้ป่วยหายได้ หรือสามารถลดยาที่ใช้ลงได้โดยในผู้ป่วยบางคนอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาอย่างอื่นเลย

Q : สามารถใช้รักษาโรคใดได้บ้าง
A : โรคภูมิแพ้ทางจมูก โรคหืด โรคภูมิแพ้ทางตา การแพ้รุนแรงจากแมลงกัดต่อย

Q : วิธีการทำอย่างไร
A : โดยการฉีดสารสกัดที่พิสูจน์แล้วว่าผู้ป่วยแพ้เข้าสู่ร่างกายทีละน้อย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ภายหลังฉีดแพทย์จะเฝ้าระวังปฏิกิริยาในแต่ละครั้ง บันทึกผล หลังจากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณสารก่อภูมิแพ้ขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยสามารถทนต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นๆ ได้คือมีอาการทางภูมิแพ้น้อยลงหรือไม่มีอาการ โดยทั่วไปมักใช้เวลาในการฉีดมากกว่า 1 ปีติดต่อกันจึงจะได้ผลการรักษาที่ดีและควรได้รับการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ต่อไป อีกประมาณ 3-5 ปี

Q : มีผลข้างเคียงหรือไม่
A :
การรักษาด้วยวิธีนี้อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาภายหลังฉีดทันทีโดยอาจทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บและมีอาการเฉพาะที่ ได้แก่ บวม คัน บริเวณที่ฉีด หรือในบางรายอาจเกิดปฏิกิริยารุนแรงทั้งตัวจนเกิดภาวะช็อค หลอดลมตีบได้ (systemic reaction) แต่พบลักษณะดังกล่าวน้อยมาก
A : ผู้ที่รับการรักษาหลังฉีดยาให้นั่งรอสังเกตอาการที่คลินิกประมาณ 30 นาที เพื่อดูว่ามีปฏิกิริยาข้างเคียงเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น อาการบวม ผื่นขึ้นหายใจไม่สะดวก หน้ามืด ฯลฯ ถ้ามีให้รายงานแพทย์ทันที
A :
ไม่ควรบีบนวดบริเวณที่ฉีดยา หรือออกกำลังกายหนักในวันที่ฉีดยา เพราะอาจทำให้ยาแพร่กระจายเร็วเกิดภาวะแพ้รุนแรงได้
A : ไม่ควรฉีดยาในวันที่มีอาการไม่สบาย มีไข้ หรือมีอาการหอบหืด

ข้อแนะนำในการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้

การลดปริมาณไรฝุ่น

  • ไม่ควรปูพรม ไม่ควรใช้เฟอร์นิเจอร์ที่หุ้มด้วยผ้า และผ้าม่านในห้องนอน
  • ไม่ควรเก็บของเล่นในห้องนอน และควรทำความสะอาดด้วยน้ำร้อน 55-60°C หรือแช่แข็งเพื่อฆ่าไรฝุ่น
  • ไม่นำสัตว์เลี้ยงเข้าในห้องนอน
  • ซักปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ทุก 1-2 สัปดาห์ ด้วยน้ำร้อน 55-60°C เพื่อฆ่าไรฝุ่น และใช้ผ้าคลุมกันไรฝุ่น
  • การนำที่นอน หมอน พรม ตากแดดจัด มากกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไปจะช่วยฆ่าตัวไรฝุ่นได้
  • มีการระบายอากาศที่เพียงพอเพื่อลดความชื้น
  • ควบคุมความชื้นในบ้านให้น้อยกว่า 50 %
  • ใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีคุณภาพดี ถ้าเป็นไปได้ควรใช้เครื่องที่มี HEPA filter ด้วย
  • ทำความสะอาดบ้านด้วยผ้าชุบน้ำหมาด
  • ในกรณีที่ไม่สามารถเอาพรมออกได้อาจใช้สารพวกbenzyl benzoate หรือ tannic acid เพื่อลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้

การหลีกเลี่ยงแมลงสาบ

  • ปิดรูหรือรอยแตกที่พื้นและเพดานทั้งหมดไม่ให้แมลงสาบเข้ามา
  • กำจัดไม่ให้มีแหล่งสะสมของเศษอาหาร ขยะ
  • ควบคุมความชื้น
  • ทำความสะอาดพื้นด้วยน้ำยาทำความสะอาดเพื่อกำจัดสารก่อภูมิแพ้
  • ใช้ยากำจัดแมลงสาบ

การหลีกเลี่ยงละอองเกสร

  • ปิดหน้าต่างในช่วงที่มีละอองเกสรมาก เช่น ช่วงเย็น หรือช่วงที่มีละอองหญ้าฟุ้งกระจาย
  • สวมแว่นตาและผ้าปิดปากเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีละอองเกสรมาก เช่น ทุ่งหญ้า สวน
  • ถ้าสามารถทำได้ การใช้เครื่องปรับอากาศหรือการใช้เครื่องกรองละอองเกสรในรถจะช่วยลดการสัมผัสละอองเกสรได้

การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จากสัตว์

  • ไม่เลี้ยงสัตว์ที่แพ้ยกเว้นเลี่ยงไม่ได้จริงๆ
  • ไม่นำสัตว์เลี้ยงเข้าบ้านหรือในห้องนอน
  • มีที่อยู่เป็นสัดส่วนให้สัตว์เลี้ยง
  • เปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งเมื่อสัมผัสสัตว์เลี้ยง เช่น ม้า แมว สุนัข
  • นำพรม ฟูก หรือเครื่องใช้ของสัตว์เลี้ยงออกจากบ้าน
  • อาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง
  • จัดบ้านให้ระบายอากาศได้ดี ใช้เครื่องกรองอากาศ HEPA filter ในห้องนอน
  • ใช้เครื่องดูดฝุ่นทำความสะอาดบ้าน พรม เป็นประจำ

การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จากเชื้อราในบ้าน

  • ถ้าความชื้นมากกว่า 50% ใช้เครื่องกำจัดความชื้น
  • ตรวจเช็คระบบระบายอากาศ หรือเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสม
  • พยายามอย่าให้เกิดความชื้น หรือมีบริเวณอับทึบภายในบ้าน เพื่อป้องกันเชื้อรา ไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สด หรือแห้งไว้ในบ้าน
  • ใช้แอมโมเนีย 5% ในการกำจัดเชื้อรา
  • ไม่ควรใช้พรมหรือวอลเปเปอร์
  • กำจัดแหล่งน้ำเซาะในบ้าน

การป้องกันการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้แบบรุนแรง (Anaphylaxis)

  • เรียนรู้วิธีการใช้เตรียม และพกยา epinephrine ไว้ตลอดเวลา
  • สิ่งที่ควรพกติดตัว ได้แก่ เบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน รายละเอียดของอาหารหรือยา หรือแมลงที่แพ้ ถ้าไปต่างประเทศควรมีเอกสารที่เป็นภาษาของประเทศนั้นๆ ด้วย
  • หลีกเลี่ยงแมลงโดยไม่ใช้น้ำหอมหรือใส่เสื้อผ้าสีสด ไม่เก็บผลไม้สด หลีกเลี่ยงเศษขยะหมักหมมซึ่งจะดึงดูดแมลง และปิดหน้าต่างเสมอเมื่อขับรถ
  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอาหารโดยเรียนรู้วิธีการอ่านส่วนผสมในฉลากอาหาร และถ้าทานอาหารนอกบ้านควรตรวจสอบส่วนประกอบของอาหารจากผู้ประกอบอาหารด้วย

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

ปกติการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคภูมิแพ้จำเป็นต้องตรวจดูว่าผู้ป่วยสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะ (specific IgE) ต่อสารก่อภูมิแพ้ที่สงสัยหรือไม่ซึ่งอาจทำได้โดยการตรวจเลือดได้แก่ การตรวจ RAST (Radioallergosorbent test) หรือ การตรวจในผู้ป่วยโดยตรงได้แก่ การการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (skin test) โดยทั่วไปแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางภูมิแพ้มักทำการตรวจ skin test เพราะทำได้ง่าย รวดเร็ว และสิ้นเปลืองน้อยอีกทั้งยังมีความไวและความจำเพาะสูง

ข้อบ่งชี้ในการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง

  1. เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ร่วมกับอาการทางคลินิก
  2. เพื่อศึกษาระบาดวิทยาของโรคภูมิแพ้ในกลุ่มประชากรต่างๆ หาสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นปัญหาสำคัญ หรือติดตามการแพ้ต่อสารตัวใหม่ๆ
  3. ใช้ศึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานของสารทดสอบภูมิแพ้
  4. เพื่อศึกษา pharmacokinetics และ pharmacodynamic ของยารักษาโรคภูมิแพ้
  5. เพื่อศึกษาผลการรักษาเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (Allergen Immunotherapy)

วิธีการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบบสะกิด (skin prick test)

ก่อนทำการตรวจ ผู้รับการตรวจจะได้รับคำแนะนำให้หยุดยาแก้แพ้ยา แก้หวัด และยาอื่นๆ ที่อาจมีผลทำให้ผลการตรวจผิดพลาดเป็นเวลาอย่างน้อย 3-7 วัน การตรวจทำได้โดยการหยดสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ (extract) ลงบนผิวหนังและใช้เข็มสะกิดผิวหนังผ่านหยดสารสกัดโดยสะกิดเบาๆ ให้เข็มทำมุมประมาณ 60-70 องศากับผิวหนัง สะกิดลงไปถึงชั้น epidermis เท่านั้น ไม่ควรมีเลือดออกทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาที จะเช็ดน้ำยาสารสกัดออกหรือไม่ ก็ได้อ่านผลโดยวัดขนาดของรอยบวม (wheal) หรือร่วมกับรอยแดง (flare) ที่เกิดขึ้น 

วิธีนี้เป็นวิธีที่แนะนำเป็นวีธีแรกในการตรวจวินิจฉัยโรคภูมิแพ้โดยทั่วไปเนื่องจากเป็นวิธีที่ปลอดภัย โอกาสเกิด systemic reaction น้อยมากนอกจากนี้ยังทำได้ง่ายใช้เวลาน้อย

รูปแสดงผลการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง 

หยดสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนัง

 

ปฏิกิริยาที่ให้ผลบวกจะเป็นรอยนูนแดงขึ้นมา (wheal) และมีรอยแดงล้อมรอบ (flare)

การฉีดวัคซีนภูมิแพ้

การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (Allergen Immunotherapy) คือการให้สารก่อภูมิแพ้ (specific allergen) แก่ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ที่เกิดจากปฏิกิริยาทาง IgE โดยให้หลายๆ ครั้งและเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ป่วยไม่เกิดอาการเมื่อต้องเจอกับสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ  

ปัจจุบันมีโรคที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถรักษาด้วยวิธี Allergen Immunotherapy ได้อยู่ 3 โรค ได้แก่ 

  1. Allergic rhinitis
  2. Allergic asthma
  3. Stinging insect hypersensitivity

ส่วนข้อห้ามในการรักษาด้วยวิธี Allergen Immunotherapy ได้แก่

  1. ผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งอาจมีอันตรายถ้าเกิดผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูงที่ควบคุมอาการไม่ได้ ผู้ป่วยโรคหอบที่มีค่า FEV1 < 70% ผู้ป่วยที่มี organ failure เช่น ตับวาย ไตวาย โรคปอดรุนแรง เป็นต้น
  2. ผู้ป่วยที่ได้รับยา Beta blocker เนื่องจากทำให้การรักษา anaphylaxis ได้ผลไม่ดี
  3. หญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นในช่วง maintenance phase

วิธีการรักษา

ทำได้โดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้ให้แก่ผู้ป่วยโดยมักฉีดเข้าในชั้นใต้ผิวหนัง subcutaneous เริ่มจากความเข้มข้นน้อยๆ ก่อนและค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ (induction phase) สัปดาห์ละครั้งจนถึงความเข้มข้นที่ต้องการจึงจะฉีดห่างออกไปเป็น 4-6 อาทิตย์ต่อครั้ง (maintenance phase) หลังฉีดผู้ป่วยต้องนั่งรอที่คลินิกอย่างน้อย 30 นาที เพื่อสังเกตอาการและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก่อนจะอนุญาตให้กลับได้ และในคลินิกจะต้องมียาและอุปกรณ์เตรียมพร้อม ในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงผู้ป่วยมักจะมีอาการดีขึ้นหลังจากเข้าสู่ maintenance phase ประมาณ 1 ปี และจะทำการักษาต่อจนครบ 3-5 ปีจึงจะพิจารณาหยุดฉีด

ประสิทธิภาพในการรักษา

การรักษาด้วยวิธี Allergen Immunotherapy สามารถลดอาการของผู้ป่วย (symptom score) ลดการใช้ยาของผู้ป่วย และลดความไวของหลอดลม (bronchial hyperresponsiveness) ต่อสารก่อภูมิแพ้ได้และในบางการศึกษายังพบว่าผู้ป่วยมีสมรรถภาพปอดที่ดีขึ้นด้วย

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่าสามารถลดการเกิดการแพ้สารก่ภูมิแพ้ตัวใหม่ได้ (new sensitization to allergen) และในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโพรงจมูกอักเสบ (allergic rhinitis) สามารถลดอัตราการเกิดโรคหอบหืด (allergic asthma) ในอนาคตด้วย (28% ในผู้ที่ได้รับการรักษาเปรียบเทียบกับ 78% ในกลุ่มควบคุม) 

ผลข้างเคียงจากการรักษา

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมีได้ทั้งผลข้างเคียงเฉพาะที่ (local reaction) และชนิดที่เกิดทั่วร่างกาย (systemic reaction) สำหรับ local reaction คือมีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดยานั้นมีทั้งแบบที่เกิดขึ้นทันทีภายใน 15-20 นาที และแบบที่เกิดภายหลังจากฉีด 3-6 ชั่วโมง ซึ่งทั้งสองแบบไม่มีอันตรายร้ายแรงและสามารถหายได้เอง โดยมีอัตราการเกิด 2.48-10.5% ส่วน systemic reaction นั้นมีอัตราการเกิดประมาณ 2-3% ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วต้องได้รับการรักษาอย่างทันที

สารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย

สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ (Aeroallergen) เป็นปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดโรค และเป็นตัวกระตุ้นสำคัญตัวหนึ่ง จากการศึกษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้มีการศึกษาในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหอบหืดและโพรงจมูกอักเสบ ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 – 2547 พบว่าสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ อันดับแรกยังคงเป็นไรฝุ่น (62.6-70.7%) รองมาเป็นฝุ่นบ้าน (54.4-63%) แมลงสาบ (36.9-41.3%) เชื้อรา (19.6-38.3%) เกสรหญ้า (11.9-17.4%) และขนรังแคสัตว์เลี้ยง (10.3-15.2%) โดยผู้ที่เป็นทั้ง 2 โรคจะให้ผลบวกมากกว่าผู้ที่เป็นเพียงโรคเดียว

สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการภูมิแพ้เลยจะแพ้ได้หรือไม่พบว่า จากการศึกษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้มีการศึกษาในอาสาสมัครผู้ใหญ่ที่ไม่มีอาการของโรคภูมิแพ้จำนวน 100 คนใน ปีพ.ศ.2547 พบว่าอาสาสมัครปกติให้ผลบวกต่อการทดสอบผิวหนังแบบสะกิด (Skin prick test for aeroallergen) ได้สูงถึง 42% โดยมีผู้ที่ให้ผลบวกต่อสารก่อภูมิแพ้สูงสุดถึง 7 ชนิดจาก 16 ชนิด 

สารก่อภูมิแพ้ที่ให้ผลบวกมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ ไรฝุ่น (33%) รองมาคือฝุ่นบ้าน (23%) และแมลงสาบ (20%) แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะผู้ที่ให้ผลบวกต่อการทดสอบ 3+ ขึ้นไปต่อสารอย่างน้อย 1 ชนิด พบว่าอาสาสมัครปกติให้ผลบวกต่อการทดสอบเพียง 19% (พบส่วนใหญ่ใน house dust และ mite)

จากการศึกษาจากต่างประเทศในอดีตพบว่าประชากรทั่วไปที่ไม่มีอาการของโรคภูมิแพ้สามารถให้ผลบวกต่อ Allergy skin test ได้ถึงร้อยละ 3-50 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจ Allergenic extract อายุ เชื้อชาติ ที่อยู่ โดยพบว่าร้อยละ 30-60 จะเป็นโรคภูมิแพ้ได้ในอนาคตขึ้นกับสารที่แพ้และระยะเวลาที่ติดตามผล อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการทดสอบภูมิแพ้ในผู้ที่ไม่มีอาการ

 

About us

ดี เอ คลินิก เป็นคลินิกเวชกรรมเฉพาะทาง ด้านผิวหนัง เลเซอร์ความงาม (Dermatology and Cosmetic Laser Surgery) และด้านโรคภูมิแพ้, วิทยาภูมิคุ้มกันคลินิก (Allergy and Immunology Clinic) ตรวจรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง

เกี่ยวกับเรา

Work Job

รับสมัครพนักงานประจำคลินิก วุฒิ ม.6,ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ถ้ามีประสบการณ์จะพิจารณาเป็นพิเศษ รายได้ดี มีประกันสังคม

who online

We have 64 guests and no members online