- Details
- Category: Allergy Zone
คำถามที่พบบ่อย
Q & A Allergy
1. Allergic Symptoms
Q : โรคภูมิแพ้คืออะไร
A : โรคภูมิแพ้คือ กลุ่มโรคที่ร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้มากผิดปกติ โดยโรคที่พบบ่อยเช่น แพ้อากาศ (allergic rhinitis)
โรคหอบหืด (asthma) โรคผื่นผิวหนังภูมิแพ้เรื้อรัง (atopic dermatitis) แพ้อาหาร (food allergy) เป็นต้น
Q : ใครที่มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้
A : ผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคภูมิแพ้จะมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าคนปกติ นอกจากนี้การที่ต้องสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้มากๆ ก็อาจเป็น สาเหตุได้
Q : จะทราบได้อย่างไรว่าตนเองเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่
A : ถ้าท่านมีอาการ เช่น มีน้ำมูกไหลประจำ คันตา คันจมูก จามบ่อย หายใจลำบาก หอบ มีผื่นลมพิษตามตัว ก็ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคภูมิแพ้ได้
Q : สามารถรักษาให้หายขาดได้ไหม
A : ปัจจุบันการรักษาเน้นที่การหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ซึ่งจะทราบได้จากการทำการทดสอบภูมิแพ้รักษาร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ส่วนการรักษาที่มีโอกาสหายขาดได้คือการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ซึ่งทำได้ในโรคแพ้อากาศ (allergic rhinitis) และหอบหืด (asthma)
2. Skin Test
Q : การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังคืออะไร
A : การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคภูมิแพ้จำเป็นต้องตรวจดูว่าผู้ป่วยสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะ (specific IgE) ต่อสารก่อภูมิแพ้ที่สงสัยหรือไม่ซึ่งอาจทำได้โดยการตรวจเลือด ได้แก่ การตรวจ RAST (Radioallergosorbent test) หรือการตรวจในผู้ป่วยโดยตรงได้แก่ การการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (skin test) โดยทั่วไปแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางภูมิแพ้มักทำการตรวจ skin test เพราะทำได้ง่าย รวดเร็ว และสิ้นเปลืองน้อย อีกทั้งยังมีความไวและความจำเพาะสูง
Q : วิธีการทำอย่างไร
A : การตรวจทำได้โดยการหยดสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ (extract) ลงบนผิวหนังและใช้เข็มสะกิดผิวหนังผ่านหยดสารสกัดโดยสะกิดเบาๆ ทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาที อ่านผลโดยวัดขนาดของรอยบวม (wheal) หรือร่วมกับรอยแดง (flare) ที่เกิดขึ้น ใช้เวลารวมทั้งหมดประมาณครึ่งชั่วโมง
Q : การเตรียมตัวก่อนทำการทดสอบ
A : ก่อนทำการตรวจ ผู้รับการตรวจจะได้รับคำแนะนำให้หยุดยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด และยาอื่นๆ ที่อาจมีผลทำให้ผลการตรวจผิดพลาดเป็นเวลาอย่างน้อย 3-7 วัน และงดการใช้ยาครีมเสตียรอยด์ทาบริเวณที่จะทำการทดสอบอย่างน้อย 2 สัปดาห์
Q : มีการทดสอบสารแพ้ตัวใดบ้าง
A : ทางคลินิกภูมิแพ้มีการทำ skin test 2 ชุด
1. ชุดแรกเกี่ยวกับการหายใจ เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น เกสร เชื้อรา ขนสัตว์ และอื่นๆ
2. ชุดที่สองเกี่ยวกับการอาหารที่รับประทาน เช่น นม ไข่ ถั่ว อาหารทะเล และอื่นๆ
3. Immunotherapy
Q : การฉีดวัคซีนภูมิแพ้คืออะไร
A : การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (immunotherapy) เป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคภูมิแพ้ เป็นการรักษาที่ต้นเหตุ เป็นวิธีการรักษาที่สามารถทำให้ผู้ป่วยหายได้ หรือสามารถลดยาที่ใช้ลงได้โดยในผู้ป่วยบางคนอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาอย่างอื่นเลย
Q : สามารถใช้รักษาโรคใดได้บ้าง
A : โรคภูมิแพ้ทางจมูก โรคหืด โรคภูมิแพ้ทางตา การแพ้รุนแรงจากแมลงกัดต่อย
Q : วิธีการทำอย่างไร
A : โดยการฉีดสารสกัดที่พิสูจน์แล้วว่าผู้ป่วยแพ้เข้าสู่ร่างกายทีละน้อย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ภายหลังฉีดแพทย์จะเฝ้าระวังปฏิกิริยาในแต่ละครั้ง บันทึกผล หลังจากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณสารก่อภูมิแพ้ขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยสามารถทนต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นๆ ได้คือมีอาการทางภูมิแพ้น้อยลงหรือไม่มีอาการ โดยทั่วไปมักใช้เวลาในการฉีดมากกว่า 1 ปีติดต่อกันจึงจะได้ผลการรักษาที่ดีและควรได้รับการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ต่อไป อีกประมาณ 3-5 ปี
Q : มีผลข้างเคียงหรือไม่
A : การรักษาด้วยวิธีนี้อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาภายหลังฉีดทันทีโดยอาจทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บและมีอาการเฉพาะที่ ได้แก่ บวม คัน บริเวณที่ฉีด หรือในบางรายอาจเกิดปฏิกิริยารุนแรงทั้งตัวจนเกิดภาวะช็อค หลอดลมตีบได้ (systemic reaction) แต่พบลักษณะดังกล่าวน้อยมาก
A : ผู้ที่รับการรักษาหลังฉีดยาให้นั่งรอสังเกตอาการที่คลินิกประมาณ 30 นาที เพื่อดูว่ามีปฏิกิริยาข้างเคียงเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น อาการบวม ผื่นขึ้นหายใจไม่สะดวก หน้ามืด ฯลฯ ถ้ามีให้รายงานแพทย์ทันที
A : ไม่ควรบีบนวดบริเวณที่ฉีดยา หรือออกกำลังกายหนักในวันที่ฉีดยา เพราะอาจทำให้ยาแพร่กระจายเร็วเกิดภาวะแพ้รุนแรงได้
A : ไม่ควรฉีดยาในวันที่มีอาการไม่สบาย มีไข้ หรือมีอาการหอบหืด
- Details
- Category: Allergy Zone
ข้อแนะนำในการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
การลดปริมาณไรฝุ่น
- ไม่ควรปูพรม ไม่ควรใช้เฟอร์นิเจอร์ที่หุ้มด้วยผ้า และผ้าม่านในห้องนอน
- ไม่ควรเก็บของเล่นในห้องนอน และควรทำความสะอาดด้วยน้ำร้อน 55-60°C หรือแช่แข็งเพื่อฆ่าไรฝุ่น
- ไม่นำสัตว์เลี้ยงเข้าในห้องนอน
- ซักปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ทุก 1-2 สัปดาห์ ด้วยน้ำร้อน 55-60°C เพื่อฆ่าไรฝุ่น และใช้ผ้าคลุมกันไรฝุ่น
- การนำที่นอน หมอน พรม ตากแดดจัด มากกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไปจะช่วยฆ่าตัวไรฝุ่นได้
- มีการระบายอากาศที่เพียงพอเพื่อลดความชื้น
- ควบคุมความชื้นในบ้านให้น้อยกว่า 50 %
- ใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีคุณภาพดี ถ้าเป็นไปได้ควรใช้เครื่องที่มี HEPA filter ด้วย
- ทำความสะอาดบ้านด้วยผ้าชุบน้ำหมาด
- ในกรณีที่ไม่สามารถเอาพรมออกได้อาจใช้สารพวกbenzyl benzoate หรือ tannic acid เพื่อลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้
การหลีกเลี่ยงแมลงสาบ
- ปิดรูหรือรอยแตกที่พื้นและเพดานทั้งหมดไม่ให้แมลงสาบเข้ามา
- กำจัดไม่ให้มีแหล่งสะสมของเศษอาหาร ขยะ
- ควบคุมความชื้น
- ทำความสะอาดพื้นด้วยน้ำยาทำความสะอาดเพื่อกำจัดสารก่อภูมิแพ้
- ใช้ยากำจัดแมลงสาบ
การหลีกเลี่ยงละอองเกสร
- ปิดหน้าต่างในช่วงที่มีละอองเกสรมาก เช่น ช่วงเย็น หรือช่วงที่มีละอองหญ้าฟุ้งกระจาย
- สวมแว่นตาและผ้าปิดปากเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีละอองเกสรมาก เช่น ทุ่งหญ้า สวน
- ถ้าสามารถทำได้ การใช้เครื่องปรับอากาศหรือการใช้เครื่องกรองละอองเกสรในรถจะช่วยลดการสัมผัสละอองเกสรได้
การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จากสัตว์
- ไม่เลี้ยงสัตว์ที่แพ้ยกเว้นเลี่ยงไม่ได้จริงๆ
- ไม่นำสัตว์เลี้ยงเข้าบ้านหรือในห้องนอน
- มีที่อยู่เป็นสัดส่วนให้สัตว์เลี้ยง
- เปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งเมื่อสัมผัสสัตว์เลี้ยง เช่น ม้า แมว สุนัข
- นำพรม ฟูก หรือเครื่องใช้ของสัตว์เลี้ยงออกจากบ้าน
- อาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง
- จัดบ้านให้ระบายอากาศได้ดี ใช้เครื่องกรองอากาศ HEPA filter ในห้องนอน
- ใช้เครื่องดูดฝุ่นทำความสะอาดบ้าน พรม เป็นประจำ
การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จากเชื้อราในบ้าน
- ถ้าความชื้นมากกว่า 50% ใช้เครื่องกำจัดความชื้น
- ตรวจเช็คระบบระบายอากาศ หรือเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสม
- พยายามอย่าให้เกิดความชื้น หรือมีบริเวณอับทึบภายในบ้าน เพื่อป้องกันเชื้อรา ไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สด หรือแห้งไว้ในบ้าน
- ใช้แอมโมเนีย 5% ในการกำจัดเชื้อรา
- ไม่ควรใช้พรมหรือวอลเปเปอร์
- กำจัดแหล่งน้ำเซาะในบ้าน
การป้องกันการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้แบบรุนแรง (Anaphylaxis)
- เรียนรู้วิธีการใช้เตรียม และพกยา epinephrine ไว้ตลอดเวลา
- สิ่งที่ควรพกติดตัว ได้แก่ เบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน รายละเอียดของอาหารหรือยา หรือแมลงที่แพ้ ถ้าไปต่างประเทศควรมีเอกสารที่เป็นภาษาของประเทศนั้นๆ ด้วย
- หลีกเลี่ยงแมลงโดยไม่ใช้น้ำหอมหรือใส่เสื้อผ้าสีสด ไม่เก็บผลไม้สด หลีกเลี่ยงเศษขยะหมักหมมซึ่งจะดึงดูดแมลง และปิดหน้าต่างเสมอเมื่อขับรถ
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอาหารโดยเรียนรู้วิธีการอ่านส่วนผสมในฉลากอาหาร และถ้าทานอาหารนอกบ้านควรตรวจสอบส่วนประกอบของอาหารจากผู้ประกอบอาหารด้วย
- Details
- Category: Allergy Zone


การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
ปกติการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคภูมิแพ้จำเป็นต้องตรวจดูว่าผู้ป่วยสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะ (specific IgE) ต่อสารก่อภูมิแพ้ที่สงสัยหรือไม่ซึ่งอาจทำได้โดยการตรวจเลือดได้แก่ การตรวจ RAST (Radioallergosorbent test) หรือ การตรวจในผู้ป่วยโดยตรงได้แก่ การการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (skin test) โดยทั่วไปแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางภูมิแพ้มักทำการตรวจ skin test เพราะทำได้ง่าย รวดเร็ว และสิ้นเปลืองน้อยอีกทั้งยังมีความไวและความจำเพาะสูง
ข้อบ่งชี้ในการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ร่วมกับอาการทางคลินิก
- เพื่อศึกษาระบาดวิทยาของโรคภูมิแพ้ในกลุ่มประชากรต่างๆ หาสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นปัญหาสำคัญ หรือติดตามการแพ้ต่อสารตัวใหม่ๆ
- ใช้ศึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานของสารทดสอบภูมิแพ้
- เพื่อศึกษา pharmacokinetics และ pharmacodynamic ของยารักษาโรคภูมิแพ้
- เพื่อศึกษาผลการรักษาเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (Allergen Immunotherapy)
วิธีการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบบสะกิด (skin prick test)
ก่อนทำการตรวจ ผู้รับการตรวจจะได้รับคำแนะนำให้หยุดยาแก้แพ้ยา แก้หวัด และยาอื่นๆ ที่อาจมีผลทำให้ผลการตรวจผิดพลาดเป็นเวลาอย่างน้อย 3-7 วัน การตรวจทำได้โดยการหยดสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ (extract) ลงบนผิวหนังและใช้เข็มสะกิดผิวหนังผ่านหยดสารสกัดโดยสะกิดเบาๆ ให้เข็มทำมุมประมาณ 60-70 องศากับผิวหนัง สะกิดลงไปถึงชั้น epidermis เท่านั้น ไม่ควรมีเลือดออกทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาที จะเช็ดน้ำยาสารสกัดออกหรือไม่ ก็ได้อ่านผลโดยวัดขนาดของรอยบวม (wheal) หรือร่วมกับรอยแดง (flare) ที่เกิดขึ้น
วิธีนี้เป็นวิธีที่แนะนำเป็นวีธีแรกในการตรวจวินิจฉัยโรคภูมิแพ้โดยทั่วไปเนื่องจากเป็นวิธีที่ปลอดภัย โอกาสเกิด systemic reaction น้อยมากนอกจากนี้ยังทำได้ง่ายใช้เวลาน้อย
รูปแสดงผลการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
หยดสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนัง
ปฏิกิริยาที่ให้ผลบวกจะเป็นรอยนูนแดงขึ้นมา (wheal) และมีรอยแดงล้อมรอบ (flare)
- Details
- Category: Allergy Zone
การฉีดวัคซีนภูมิแพ้
การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (Allergen Immunotherapy) คือการให้สารก่อภูมิแพ้ (specific allergen) แก่ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ที่เกิดจากปฏิกิริยาทาง IgE โดยให้หลายๆ ครั้งและเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ป่วยไม่เกิดอาการเมื่อต้องเจอกับสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ
ปัจจุบันมีโรคที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถรักษาด้วยวิธี Allergen Immunotherapy ได้อยู่ 3 โรค ได้แก่
- Allergic rhinitis
- Allergic asthma
- Stinging insect hypersensitivity
ส่วนข้อห้ามในการรักษาด้วยวิธี Allergen Immunotherapy ได้แก่
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งอาจมีอันตรายถ้าเกิดผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูงที่ควบคุมอาการไม่ได้ ผู้ป่วยโรคหอบที่มีค่า FEV1 < 70% ผู้ป่วยที่มี organ failure เช่น ตับวาย ไตวาย โรคปอดรุนแรง เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่ได้รับยา Beta blocker เนื่องจากทำให้การรักษา anaphylaxis ได้ผลไม่ดี
- หญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นในช่วง maintenance phase
วิธีการรักษา
ทำได้โดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้ให้แก่ผู้ป่วยโดยมักฉีดเข้าในชั้นใต้ผิวหนัง subcutaneous เริ่มจากความเข้มข้นน้อยๆ ก่อนและค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ (induction phase) สัปดาห์ละครั้งจนถึงความเข้มข้นที่ต้องการจึงจะฉีดห่างออกไปเป็น 4-6 อาทิตย์ต่อครั้ง (maintenance phase) หลังฉีดผู้ป่วยต้องนั่งรอที่คลินิกอย่างน้อย 30 นาที เพื่อสังเกตอาการและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก่อนจะอนุญาตให้กลับได้ และในคลินิกจะต้องมียาและอุปกรณ์เตรียมพร้อม ในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงผู้ป่วยมักจะมีอาการดีขึ้นหลังจากเข้าสู่ maintenance phase ประมาณ 1 ปี และจะทำการักษาต่อจนครบ 3-5 ปีจึงจะพิจารณาหยุดฉีด
ประสิทธิภาพในการรักษา
การรักษาด้วยวิธี Allergen Immunotherapy สามารถลดอาการของผู้ป่วย (symptom score) ลดการใช้ยาของผู้ป่วย และลดความไวของหลอดลม (bronchial hyperresponsiveness) ต่อสารก่อภูมิแพ้ได้และในบางการศึกษายังพบว่าผู้ป่วยมีสมรรถภาพปอดที่ดีขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่าสามารถลดการเกิดการแพ้สารก่ภูมิแพ้ตัวใหม่ได้ (new sensitization to allergen) และในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโพรงจมูกอักเสบ (allergic rhinitis) สามารถลดอัตราการเกิดโรคหอบหืด (allergic asthma) ในอนาคตด้วย (28% ในผู้ที่ได้รับการรักษาเปรียบเทียบกับ 78% ในกลุ่มควบคุม)
ผลข้างเคียงจากการรักษา
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมีได้ทั้งผลข้างเคียงเฉพาะที่ (local reaction) และชนิดที่เกิดทั่วร่างกาย (systemic reaction) สำหรับ local reaction คือมีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดยานั้นมีทั้งแบบที่เกิดขึ้นทันทีภายใน 15-20 นาที และแบบที่เกิดภายหลังจากฉีด 3-6 ชั่วโมง ซึ่งทั้งสองแบบไม่มีอันตรายร้ายแรงและสามารถหายได้เอง โดยมีอัตราการเกิด 2.48-10.5% ส่วน systemic reaction นั้นมีอัตราการเกิดประมาณ 2-3% ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วต้องได้รับการรักษาอย่างทันที
- Details
- Category: Allergy Zone
สารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย
สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ (Aeroallergen) เป็นปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดโรค และเป็นตัวกระตุ้นสำคัญตัวหนึ่ง จากการศึกษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้มีการศึกษาในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหอบหืดและโพรงจมูกอักเสบ ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 – 2547 พบว่าสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ อันดับแรกยังคงเป็นไรฝุ่น (62.6-70.7%) รองมาเป็นฝุ่นบ้าน (54.4-63%) แมลงสาบ (36.9-41.3%) เชื้อรา (19.6-38.3%) เกสรหญ้า (11.9-17.4%) และขนรังแคสัตว์เลี้ยง (10.3-15.2%) โดยผู้ที่เป็นทั้ง 2 โรคจะให้ผลบวกมากกว่าผู้ที่เป็นเพียงโรคเดียว
สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการภูมิแพ้เลยจะแพ้ได้หรือไม่พบว่า จากการศึกษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้มีการศึกษาในอาสาสมัครผู้ใหญ่ที่ไม่มีอาการของโรคภูมิแพ้จำนวน 100 คนใน ปีพ.ศ.2547 พบว่าอาสาสมัครปกติให้ผลบวกต่อการทดสอบผิวหนังแบบสะกิด (Skin prick test for aeroallergen) ได้สูงถึง 42% โดยมีผู้ที่ให้ผลบวกต่อสารก่อภูมิแพ้สูงสุดถึง 7 ชนิดจาก 16 ชนิด
สารก่อภูมิแพ้ที่ให้ผลบวกมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ ไรฝุ่น (33%) รองมาคือฝุ่นบ้าน (23%) และแมลงสาบ (20%) แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะผู้ที่ให้ผลบวกต่อการทดสอบ 3+ ขึ้นไปต่อสารอย่างน้อย 1 ชนิด พบว่าอาสาสมัครปกติให้ผลบวกต่อการทดสอบเพียง 19% (พบส่วนใหญ่ใน house dust และ mite)
จากการศึกษาจากต่างประเทศในอดีตพบว่าประชากรทั่วไปที่ไม่มีอาการของโรคภูมิแพ้สามารถให้ผลบวกต่อ Allergy skin test ได้ถึงร้อยละ 3-50 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจ Allergenic extract อายุ เชื้อชาติ ที่อยู่ โดยพบว่าร้อยละ 30-60 จะเป็นโรคภูมิแพ้ได้ในอนาคตขึ้นกับสารที่แพ้และระยะเวลาที่ติดตามผล อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการทดสอบภูมิแพ้ในผู้ที่ไม่มีอาการ